กระท่อม (Mitragyna speciosa) เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นของประเทศไทย แต่เดิมนิยมบริโภคโดยเคี้ยวใบสด นำไปตำน้ำพริก ต้มเป็นน้ำชา และนำมาใช้เพื่อการสันทนาการต่างๆ เพราะเชื่อว่าสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อม เช่น ไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซเว่น-ไฮดรอกไซไมทราไจนีน (7-hydroxynitragynine) จะช่วยทำให้ตื่นตัว แก้ปวด และคลายกล้ามเนื้อ
ในปัจจุบันใบกระท่อมมีความนิยมและวิธีการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การทอด การย่างไฟ หรือการผัดรวมกับอาหารอื่นๆ ทำให้สารออกฤทธิ์ในใบกระท่อมถูกทำลายด้วยอุณหภูมิ หรือสภาวะความเป็นกรด (ความเปรี้ยว) ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงปริมาณของสารออกฤทธิ์ในใบกระท่อมที่ผ่านกรรมวิธีดังกล่าวต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การบริโภคใบกระท่อมที่มากเกินขนาดอาจทำให้เกินขนาดอาจทำให้เกิดผลเสียได้ ดังนี้
ผลข้างเคียงเมื่อบริโภคใบกระท่อมเกินขนาด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
- กระสับกระส่าย ชัก
- เกิดอาการเซื่องซึม หรือกดการหายใจ
- ทำให้เสพติด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- อาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่
คำแนะนำจากแพทย์
ถึงแม้ว่าใบกระท่อมทอดจะสามารถรับประทานได้ แต่ไม่สามารถคาดเดาถึงผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกายได้ จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินขนาดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2564
ที่มา : อ.พญ.สุทธิมน ธรรมเตโช