นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายพันธุ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลต้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด พบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อัลฟาพลัส (E484K) พบในไทยแล้ว 18 ราย
รายแรก เป็นผู้ต้องขัง ที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 ราย เก็บตัวอย่างไป เมื่อวันที่ 27 ก.ย.64 ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ส่วนอีก 16 ราย เป็นชาวกัมพูชา 12 ราย คนไทย 4 ราย ที่ จ.จันทบุรี และ ตราด ทำงานอยู่ในล้งลำไย เก็บตัวอย่างไป เมื่อวันที่ 9-10 ต.ค.64 และทำการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสายพันธุ์อัลฟาพลัส (E484K) พบลักษณะทางพันธุกรรม ใกล้เคียงกับที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในกัมพูชา พบครั้งแรกในอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.2563 ซึ่งสายพันธุ์อัลฟาพลัส (E484K) พบ spike โปรตีน ระหว่างสายพันธุ์ บีตา และ แกรมมา ซึ่งหากพบจำนวนมาก ก็อาจเกิดการหลบภูมิได้
โชคดีที่สายพันธุ์อัลฟาพลัส (E484K) ถูกเบียดโดยสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้อำนาจการแพร่กระจายไม่สูงมาก และจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องดำเนินการตรวจหาเรื่อย ๆ ว่าปรากฏในที่อื่น ๆ อีกหรือไม่ จากนี้จะมีการนำตัวอย่างอัลฟาพลัส มาเพาะเชื้อ เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการดูตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันวัคซีนอย่างไร
ส่วนสายพันธุ์เดลต้าพลัส ที่ทุกคนกำลังสนใจ อยากชี้แจงว่า เดลต้า ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ คือ B.1.617.2 จากนั้นเมื่อเดลต้ามีการกลายพันธุ์เป็นลูกหลาน จึงถูกกำหนดว่าเป็น AY ปัจจุบัน มีตั้งแต่ AY.1 ถึง AY.47
ขณะนี้ในประเทศไทยเจอ 18 สายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ที่พบมากที่สุด คือ AY.30 จำนวน 1,341 ราย และ AY.39 จำนวน 83 ราย ที่เหลือพบมากบ้างน้อยบ้าง และอีก 1 ชนิด คือ AY.1 ที่ตรวจพบโดยสถาบัน AFRIMS รวมเจอ 19 เดลต้าสายพันธุ์ย่อย
แต่ที่กำลังเป็นประเด็น คือ AY.1 เป็นการกลายพันธุ์ของเดลต้า และ K417N ซึ่งได้รับการประสานจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารบก หลังตรวจตัวอย่างในผู้ป่วยชาย 1 ราย จาก จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า เป็น AY.1 ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม และหายเป็นปกติแล้ว
ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า AY.1 จะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า หรือ หลบภูมิ รวมถึงยังไม่ถูกขึ้นบัญชีจากองค์การอนามัยโลก และยังต้องเก็บตัวอย่าง หรือ ตรวจเพิ่มเติม และอีกตัวที่พูดถึง คือ AY.4.2 แม้ยังไม่พบในประเทศไทย แต่พบว่ามีการระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในแถบยุโรป มาจากการกลายพันธุ์ของเดลต้า และ Y145H และ A222V ซึ่ง AY.4.2 จะมีอำนาจการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นจากเดลต้าปกติ 10-15%
แต่ตอนนี้ ขอยืนยันว่า ยังไม่พบสายพันธุ์ A.Y.4.2 ในประเทศไทย ที่แจ้งพบเดลต้าพลัส 1 ราย ก่อนหน้านี้ เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ A.Y.1 จำนวน 1 ราย จังหวัดกำแพงเพชร ยังไม่มีข้อมูลว่ามีความรุนแรง หรือ ต่อต้านภูมิคุ้มกันได้มากน้อยเท่าใด