นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 ต.ค. 66 เห็นชอบ ขยายระยะเวลาดำเนินการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่ได้ออกไปแล้วให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บทดังกล่าวอีก 6 ฉบับ ดังนี้
1. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการจัดให้บุคคลซึ่งอาจจะเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อยู่ในความคุ้มครองเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2552
2. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการเก็บรักษา และการใช้ประโยชน์เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ได้มาในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
3. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการให้คว่ามช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พ.ศ.2552
4. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการจัดตั้งสถานคุ้มครองเอกชนเพื่อการช่วยเหลือและคุ้มคระงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2560
5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการคำมนุษย์ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
6. ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสั่งปิดสถานประกอบธุรกิจหรือโรงงาน การห้ามใช้ยานพาหนะเป็นการชั่วคราว หรือดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการกระทำผิดขึ้นอีก ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังข้างต้น พม. เห็นว่า พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
แต่โดยที่การแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์หลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีขั้นตอนการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
ส่งผลให้ต้องมีการสอบถามข้อเสนอแนะและปัญหาอุปสรรค เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ก่อให้เกิดภาระและส่งผลกระทบต่อผู้เสียห่ายจากการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการและประชาชนโดยตรง รวมทั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายลำดับรองดังกล่าวโดยตรง
ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาหารือร่วมกันเพื่อให้ได้หลักเกณฑ์กลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ พม. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอ ครม.เพื่อขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง **ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป