นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีนายจ้างสถานประกอบการหลายแห่ง แจ้งเข้างานและแจ้งลาออกจากงานให้ลูกจ้างล่าช้า ทำให้ข้อมูลในระบบฐานทะเบียนไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ล่าช้า รวมถึงทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลเกินจริง
สำนักงานประกันสังคม ขอย้ำ หน้าที่นายจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือ กรณีมีลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ นายจ้าง ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) ต่อสำนักงานประกันสังคม โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับจากวันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน
1.กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างยื่นแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) พร้อมระบุสาเหตุการออกจากงาน
2.กรณีที่ผู้ประกันตนเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ให้นายจ้างยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส.6-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
นายจ้างสามารถยื่นแบบรายการดังกล่าว ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือสามารถดำเนินการได้ที่ระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม หรือ www.sso.go.th ได้ทันที
ทั้งนี้ หากพบนายจ้างมีเจตนาหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ล่าช้า จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง