กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency testing, PT) โดยจัดส่งตัวอย่างน้ำให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 356 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบ ในรายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อประเมินผลทางสถิติโดยวิธีการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
ของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids; TDS) คือ การวัดปริมาณของแข็ง สารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ แหล่งของสารอินทรีย์เกิดได้จาก ตะกอน กากอุตสาหกรรม สิ่งปฏิกูลที่มาจากพื้นที่เขตเมือง ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในสนามหญ้าและฟาร์ม เป็นต้น สำหรับแหล่งของสารอนินทรีย์ ได้แก่ หินและอากาศที่อาจมีไบคาร์บอเนต แคลเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เหล็ก กำมะถัน และแร่ธาตุอื่น ๆ ปะปนร่วมกันอยู่ ค่ามาตรฐานของ TDS ไม่ควรเกิน 500 mg/L หรือ 500 ppm หากค่า TDS เกิน 1000 mg/L จะเป็นน้ำที่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ในการทดสอบค่า TDS ได้แก่ (1) ด้านรสชาติ/สุขภาพ น้ำที่มีรสชาติแปลก ๆ เช่น เค็ม ขม หรือเหมือนมีโลหะผสมอยู่ เมื่อวัดหาค่า TDS มักจะมีค่าสูง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปนเปื้อนแร่ธาตุที่เป็นพิษ (2) ค่า TDS จะบ่งชี้ถึงความกระด้างของน้ำได้ ซึ่งความกระด้างของน้ำเป็นสาเหตุของการก่อตัวของหินปูนในท่อ หรือตามวาล์ว (3) การเลี้ยงสัตว์น้ำคุณภาพน้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรมีระดับของแร่ธาตุที่จำเป็นใกล้เคียงกับที่มีอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์น้ำนั้น ดังนั้นการตรวจระดับ TDS และ pH ในน้ำจะเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำที่สำคัญ (4) ตรวจวัดคุณภาพน้ำเสีย น้ำทิ้งจากบ่อบำบัดโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานโรงงาน เป็นต้น
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ