โรคผิวหนังเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอย่างแพร่หลาย หากมีการดูแลการใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้ผู้ที่สัมผัสเกิดอาการระคายเคืองและภูมิแพ้ที่ผิวหนัง อาการลักษณะนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นโรค การรักษาโรคผิวหนังนั้นมักจะทำได้โดยการบรรเทาอาการ และที่สำคัญคือ ต้องกำจัดสาเหตุ และสภาพที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคผิวหนัง
สาเหตุการเกิดโรคผิวหนังจากการทำงาน
การเกิดโรคผิวหนังจากการทำงาน มีสาเหตุหลัก ดังนี้
1. สาเหตุจากสารเคมี
2. สาเหตุจากการสัมผัส การเสียดสีและการกระแทก
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
4. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
1. สาเหตุจากสารเคมี
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่ามีการใช้สารเคมี ในอุตสาหกรรมมากกว่า 100,000 ชนิด โดยในจำนวนนี้มีสารเคมีมากกว่า 16,500 ชนิดที่เป็นพิษและสามารถก่อให้เกิดอาการทางผิวหนัง รวมทั้งระบบต่าง ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบประสาท ระบบโลหิตและระบบภูมิแพ้
โรคผิวหนังจากสารเคมีทำให้เกิดภูมิแพ้ที่รู้จักกันมานานในประเทศอุตสาหกรรม โดยอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังมีดังนี้
- คนงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เครื่องหนัง ยาง สีย้อมผ้า กาวพลาสติก เส้นใยแก้ว สีพ่น รวมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่อง การที่ผิวหนังสัมผัสกับน้ำมันโดยตรงและไม่มีเครื่องป้องกัน จะทำให้ขุมขนอักเสบหรือเกิดผื่นคล้ายสิวบริเวณหน้า แขน ขาและบริเวณอื่นๆ ที่สัมผัสได้ เช่น การใช้น้ำมันเบนซินล้างมือ สารตะกั่วที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซินอาจซึมเข้าผิวหนัง เกิดเป็นรอยคล้ำและทำให้เกิดโรคแพ้พิษตะกั่วอินทรีย์ได้
- คนที่ต้องทำงานสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิคเกิลเป็นประจำบางคนจะเกิดโรคผิวหนังผื่นแพ้ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จะทำให้ผิวหนังแพ้ง่ายเกิดเป็นน้ำเหลืองบริเวณที่สวมใส่เครื่องประดับของเทียมทำด้วยโลหะชุบนิคเกิล เช่น ตุ้มหู สร้อยคอ หัวเข็มขัด เป็นต้น
- งานอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาจมีการแพ้กาวพลาสติกในการทำดอกไม้พลาสติก ทำเครื่องหนัง แม้แต่งานดอกไม้สดก็อาจแพ้ยางของดอกไม้ได้ เช่น ดอกรัก และดอกมะลิ เป็นต้น
- สำหรับงานด้านเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ย สารกำจัดแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืชล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและผื่นคันที่ผิวหนังได้หากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน
2. สาเหตุจากการสัมผัส การเสียดสีและการกระแทก
การเสียดสีหรือจับต้องกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเป็นประจำ เช่น เส้นใยแก้วและเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ทำฉนวนต่างๆ เมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน เมื่อเกาอาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลหรือรอยถลอก มีโอกาสติดเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
การได้รับความร้อน ความเย็น แสงอาทิตย์ รังสีเอกซ์-เรย์ และรังสีแตกตัวอื่น ๆ ที่มากเกินไป สามารถทำให้เกิดอันตรายที่ผิวหนังได้ เช่น ทำให้ผิวหนังไหม้ อักเสบ แสบ ลอก และอาจเกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้
4. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
สารชีวภาพจำพวก แบคทีเรีย รา และปรสิต เช่น เห็บและไร ซึ่งจะทำลายผิวหนังทำให้เกิดอาการคัน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และที่พบบ่อยในคนไทย คือ โรคกลากเกลื้อน โดยสาเหตุจากการทำความสะอาดร่างกายไม่เพียงพอ บริเวณที่พบบ่อยมักจะเป็นบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ขาหนีบ เล็บ ศีรษะ ง่ามมือ และง่ามเท้า นอกจากนี้ คนที่มีอาชีพที่มือต้องเปียกชื้นตลอดเวลา เช่น ขายอาหาร ขายผัก น้ำจะโดนเล็บทำให้เล็บเปื่อย เกิดอาการอักเสบบวมแดง อาจมีหนองและติดเชื้อราชนิดยีสต์ได้ อีกทั้งพืชมีพิษ จัดเป็นสารชีวภาพชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น เถาวัลย์มีพิษและไม้โอ๊คมีพิษ พืชบางชนิดเมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นแดง อักเสบ และเกิดภูมิแพ้ที่ผิวหนังได้
การป้องกันโรคผิวหนังจากการทำงาน มีดังนี้
1. การใช้สารเคมีที่ปลอดภัยที่สุด
2. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
3. การใช้อุปกรณ์ป้องกันผิวหนัง
4. การทำความสะอาดผิวหนังอย่างเหมาะสม
5. การดูแลเอาใจใส่ผิวหนัง
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองความปลอดภัยแรงงาน และกรมการแพทย์