ช่วงเวลายื่นภาษีประจำปีใกล้เข้ามาอีกครั้ง! ปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้เกิดขึ้นในปี 2567 (ปีภาษี 2567) จะต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค. 2568 สำหรับคนที่เคยยื่นเป็นประจำทุกปีอาจจะเตรียมตัวได้ไม่ยุ่งยาก แต่สำหรับมือใหม่ หรือ มนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งเข้าสู่ระบบภาษี จะต้องยื่นรายได้อะไรบ้าง มีค่า นิวส์ พามาเช็กลิสต์กันค่ะ
รายการ ลดหย่อนภาษี 2567
1.ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับตามกฎหมาย ประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส 60,000 บาท
- บุตร คนละ 30,000 บาท
- ค่าคลอดบุตร ตามจริงไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งของตนเองและคู่สมรส คนละ 30,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
2.ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน คือ สิทธิการลดหย่อนที่เราซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสมทบทุนตามกองทุนที่ภาครัฐกำหนด อาทิ
- ประกันสังคม 9,000 บาท
- ประกันสุขภาพพ่อแม่ 15,000 บาท
- ประกันสุขภาพ 25,000 บาท
- ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ 100,000 บาท
- กองทุนเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณอายุ 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้
- กองทุน Thai ESG 300,000 บาท เป็นต้น
3.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค สำหรับกลุ่มเงินบริจาคมี 3 ประเภท ที่อยู่ในเกณฑ์สามารถลดหย่อนภาษีได้ คือ
- บริจาคเงินทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- บริจาคเงินบริจาคเพื่อสังคม ลดหย่อน 2 เท่าจากที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
4.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐตามโครงการต่าง ๆ ได้แก่
- โครงการ Easy e-Receipt 2567 ลดหย่อนได้ 50,000 บาท
- โครงการเที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้ 15,000 บาท
- โครงการดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 100,000 บาท
- ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 100,000 บาท กำหนด 10,000 บาทต่อค่าสร้าง 1 ล้านบาท
5.มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่จ่ายไปช่วง 16 ส.ค. ถึง 31 ธ.ค. เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด
- ช่วยค่าซ่อมบ้านไม่เกิน 100,000 บาท
- ช่วยค่าซ่อมรถ ไม่เกิน 30,000 บาท
ขอบคุณภาพ ข้อมูล กรมสรรพากร : The Revenue Department