จากข่าวที่ หุ้น RS หรือ บมจ. อาร์เอส เผชิญวิกฤติโดนถล่มขายจากปมผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกบังคับขาย (Forced Sell) หุ้น ส่งผลให้มูลค่าบริษัท หรือมาร์เก็ตแคป หายวับกว่า 8,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 วัน ก่อนที่ต่อมา นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ rs ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ได้ขาย หุ้น RS จำนวน 118,981,598 หุ้น คิดเป็น 5.4523% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลง เหลือเพียง 336,948,400 หุ้น หรือ 15.4406% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด
ซึ่งหลายคนอาจจะอยากรู้ว่า จริง ๆ แล้ว หุ้น RS ทำธุรกิจอะไรบ้าง มีค่า นิวส์ สรุปมาให้
บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจพาณิชย์ และ เอ็นเตอร์เทนต์เมนต์ ภายใต้โมเดล Entertainmerce โดยมีแบรนด์สินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายของตนเอง ที่สามารถใช้ประโยชน์จาก eco-system ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาทิ สื่อโทรทัศน์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และ สถานีเพลง Cool Fahrenheit รวมทั้งมีธุรกิจเพลงครบวงจร ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ดำเนินงานมากว่า 40 ปี
นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) โดยพัฒนาสินค้าสุขภาพและความงามออกจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2557 มีแบรนด์สินค้าภายในกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งพัฒนาโดย RS Livewell ภายใต้แบรนด์ Well-U, Vitanature+, Camu C, Lifemate เป็นต้น รวมถึงจัดจำหน่ายผ่านช่องทางของบริษัทเอง ทั้งโทรศัพท์ (Telesale), วิทยุ, โทรทัศน์, เว็บไซต์ และช่องทางของพันธมิตร เช่น ร้านค้าปลีก และอื่น ๆ
วันที่เริ่มต้นซื้อขาย หุ้น RS คือ 22 พ.ค. 2546 ซึ่งในช่วงเฟื่องฟูราคา หุ้น RS พุ่งทะลุ 20 บาทในปี 2564 (ราคาปิดสิ้นปีอยู่ที่ 21.70 บาท) มาร์เก็ตแคปทะลุ 2 หมื่นล้านบาท จนกระทั่งมาเป็นข่าวเมื่อวันช่วงหลายวันที่ผ่านมาดังกล่าว โดย RS ก็ได้ออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคลของผู้บริหาร ซึ่งใช้หุ้นจำนวนหนึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคล เมื่อราคาหุ้น ปรับลดลง จึงเกิดการขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข Forced sell ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่ง เกิดจากปัจจัยภายนอกและกลไกตลาด นอกจากนี้ RS ยืนยันว่า ธุรกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และสถานะทางการเงินของบริษัท รวมทั้งไม่มีปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และบริษัทยังเดินหน้าตามวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ที่วางไว้
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสถียรภาพในการบริหารและความมั่นคงของบริษัท และอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อออกมาตรการและทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจกิจการตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงการปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน และเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล บริษัทอาร์เอส, SET, การเงินการธนาคาร