ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และในฐานะที่ปรึกษาทางด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ร่วมบรรยายในหัวข้อ Digital Transformation (DX) for Green Transformation (GX) – Overcoming Challenges in Corporate Carbon Footprint Reporting การเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลสําหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และความท้าทายในการจัดทํารายงานคาร์บอนฟุตพริ้นองค์กร ภายในงานสัมมนา Manu Tech Update 2025 ที่โรงแรมอมาแรนธ์ สุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา

งานนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเป้าหมายทางด้านการผลิตและอุตสาหกรรม โดยมีผู้บริหารฝ่ายไอทีในโรงงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเข้าร่วมงานกว่า 80 บริษัท มุ่งเน้นเกี่ยวกับการผลักดันกลยุทธ์สำหรับการสร้างอุตสาหกรรม 5.0 ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักสำคัญในการเดินหน้าสู่การขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ Cloud, AI และ Big data รวมถึงการปฏิบัติตามข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อการเปลี่ยนผ่านพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมดิจิทัล
ภายในงาน ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ อธิบายขยายความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรง สภาวะก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกปี ความจำเป็นเกี่ยวกับการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร และว่าด้วยเรื่องของ พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ ในด้านเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อถึงขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูลด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การพัฒนาระบบในการเก็บข้อมูลจะมีส่วนช่วยในการรายงานข้อมูลที่จะช่วยประหยัดเวลา รวดเร็วและถูกต้องเม่นยำมากขึ้น โดยทางไอทีของบริษัทจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบบริหารงานทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning หรือ ERP) การใช้อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (Internet of Things หรือ IOT) และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.วริศ ยังได้อธิบายต่อว่า จากประสบการณ์ที่ได้เป็นที่ปรึกษาในการประเมินคาร์บอนฟุต
พริ้นท์ให้กับบริษัทและองค์กรต่างๆ ร่วมกับหน่วยงาน Hub of Netzero ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่ผ่านมานั้น อุปสรรคของแต่ละบริษัทและองค์กรส่วนใหญ่จะเป็นขั้นตอนในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์และลูกค้า ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในขั้นตอนการประเมินจะถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้แนวโน้มของการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กรมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม มุมมองดังกล่าว สามารถสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืน การบูรณาการ AI, IoT และระบบดิจิทัล จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถก้าวข้ามความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Transformation) ได้อย่างเต็มรูปแบบ