สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เตือนมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โดยกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายถุง เพื่อทำหน้าที่ในการกักเก็บปัสสาวะ เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานบริเวณเหนือหัวเหน่า ภายในกระเพาะปัสสาวะจะถูกบุด้วยเยื่อบุที่ประกอบจากเซลล์ที่ความหนาหลายเซลล์ (Transitional Cell) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ของเสียในปัสสาวะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือด
ซึ่งหากชั้นเซลล์ดังกล่าว มีการเจริญเติบโตไปในลักษณะผิดปกติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ จนกลายเป็นเนื้อร้าย (Transitional Cell Carcinoma) หรือเรียกว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ข้อมูลล่าสุดจากการรวบรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 7 คน คิดเป็นร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด มักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3 ถึง 4 เท่า
อาการที่พบได้บ่อยที่สุด
1.อาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยเฉพาะในรายที่ไม่พบอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย จะพบว่ามีความเสี่ยงในการพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง
2.น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
3.ปัสสาวะออกน้อยหรือปัสสาวะลำบากได้
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
1.การสูบบุหรี่ ซึ่งสารเคมีในบุหรี่จะถูกขับมากับปัสสาวะจนรบกวนเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ
2.การสัมผัสสารเคมีในอุตสาหกรรมสี ยาง หรือปิโตรเคมี
3.การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง หรือมีประวัติมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในครอบครัว
สำหรับการรักษา ขึ้นอยู่กับความลึกของมะเร็งว่าลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ โดยถ้ามะเร็งยังอยู่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาจะสามารถตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง โดยสามารถเก็บกระเพาะปัสสาวะเดิมไว้ได้ ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใส่กล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น
- การใส่ยาเคมีบัด (Chemotherapy) ในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง
- การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune Therapy) หรือการใช้ยีนบำบัด (Gene Therapy)
- การรักษามักจะต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะและต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงออก ร่วมกับการทำช่องปัสสาวะเทียมทางหน้าท้องแบบถาวร หรือทำกระเพาะปัสสาวะเทียมจากลำไส้
การป้องกัน
- งดการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์
- งดอาหารหรือเนื้อสัตว์แปรรูป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทำจิตใจให้แจ่มใส
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี
ขอบคุณข้อมูล กรมการแพทย์
