วันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป กองเทคโนโลยีชุมชน ร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และหนองบัวลำภู สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และหนองบัวลำภู สำนักงานประมงอำเภอโนนสัง สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง สำนักงานการไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้แทนจากภาคประชาชน เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มรอบเขื่อนอุบลรัตน์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวระดับชุมชน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ชุมชนอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ วศ. ได้ลงพื้นที่เก็บสำรวจข้อมูล และให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์ปลาส้มในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและหนองบัวลำภู ทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านท่าเรือ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา 1 เดียว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านท่าลาด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาสมุนไพร ตรา 3 A อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อวิเคราะห์การเชื่อมต่อของกิจกรรมที่สร้างมูลค่าและกิจกรรมสูญเปล่าที่ ไม่เกิดประโยชน์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อวินิจฉัยปัญหาในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เหมาะสม อาทิเช่น การจัดการวัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการขนส่งวัตถุดิบ การตรวจรับคุณภาพวัตถุดิบ และการจัดเก็บวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ร่วมกับการควบคุมกระบวนการผลิตปลาส้มโดยใช้องค์ความรู้ด้าน วทน. ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตปลาส้มของผู้ประกอบการ OTOP และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปลาส้มเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับทรัพยากรบนฐานการผลิตที่ยั่งยืน ความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป